KM

หลักการและแนวนโยบายด้านการจัดการความรู้ คณะนิเทศศาสตร์

การจัดการความรู้ (Knowledge Management) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงกับภารกิจหลักด้านการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้การดำเนินงานของคณะและมหาวิทยาลัยบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจอย่างน้อย 4 ประการ

การจัดการความรู้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานเพื่อกำกับติดตามผลลัพธ์ตามพันธกิจ เอกลักษณ์และบริบทของมหาวิทยาลัย โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดการความรู้ เพื่อค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีจากความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคล (Tacit Knowledge)  และความรู้ที่เกิดจากการแสวงหารวบรวมจากแหล่งต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเป็นรูปธรรม (Explicit Knowledge) แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้เป้าลุเป้าหมายการทำงานร่วมกันภายในคณะและมหาวิทยาลัยทำให้เกิด “องค์กรแห่งการเรียนรู้ องค์กรแห่งการแลกเปลี่ยน องค์กรแห่งการทำงานเป็นทีม”

ในการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ ของคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ดำเนินงานโดยคณะกรรมการจัดการความรู้ คณะนิเทศศาสตร์ ตามหลัก PDCA  ในการประกันคุณภาพการศึกษา โดยจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อต่างๆ ด้านการเรียนการสอน/การผลิตบัณฑิต และด้านการวิจัย เพื่อให้บุคลากรในคณะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องและมีชุดความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ในแต่ละปีการศึกษา

หัวข้อในการจัด KM ของคณะนิเทศศาสตร์

ด้านการเรียนการสอน/ผลิตบัณฑิต

2559 “แนวทางการจัดการเรียนการสอนและดูแลนักศึกษาเพื่อลดปัญหานักศึกษา Drop out”

2560 การใช้ระบบ e-Learning เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์

2561 การสร้างเครื่องมือสำหรับประเมินผู้เรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์

2562 การใช้ Hybrid Technology เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนทางนิเทศศาสตร์

2563 เทคนิคการให้คำปรึกษาและจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ยุคดิจิทัล

2564 การพัฒนาแผนและสื่อการสอนแบบ Active Learning สำหรับการสอนด้านนิเทศศาสตร์ กรณีสอนออนไลน์และออนไซต์

2565 การพัฒนาการสอนแบบ “Teaching Less, Learning More: การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างนักวิชาชีพเชิงรุกทางนิเทศศาสตร์”

ด้านการวิจัย

2559 “สุนทรียสนทนา: การใช้งานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ เพื่อตำแหน่งทางวิชาการ”

2560 “จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สำหรับงานวิจัยทางนิเทศศาสตร์”

2561 การเขียนโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุนภายนอก

2562 แนวทางการทำวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน

2563 ประเด็นแนวโน้มการวิจัย และองค์ความรู้ทางนิเทศศาสตร์

2564  แนวทางการเข้าถึงแหล่งทุนและการเขียนข้อเสนอวิจัยเพื่อขอทุนจากแหล่งทุนภายนอก

2565 แนวทางการจัดทำวารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

2566 สรุปความรู้จากการจัดโครงการ KM ปีการศึกษา 2566 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

          คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จัดโครงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ประจำปีการศึกษา 2566 (Knowledge Management: KM)  ณ ห้องประชุม KM คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา  มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่มเกล้า จำนวน 2 เรื่อง คือ

  1. ด้านการเรียนการสอน/ผลิตบัณฑิต: เรื่อง “การใช้ Generative AI สำหรับการสอนด้านนิเทศศาสตร์” ระหว่างวันที่ 7 ธ.ค.66- 17 ม.ค.67 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่มเกล้า
  2. KM ด้านการวิจัย เรื่อง “การต่อยอดงานวิจัย/งานสร้างสรรค์และประสบการณ์ทำงานสู่การเขียนบทความด้านนิเทศศาสตร์” ระหว่างวันที่ 11 ม.ค.67 – 27 มี.ค. 67 เวลา 14.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม คณะนิเทศศาสตร์ ชั้น 11 อาคารเกษมนครา ร่มเกล้า

สรุประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ด้านการเรียนการสอน/ผลิตบัณฑิต: ประเด็น “การใช้ Generative AI สำหรับการสอนด้านนิเทศศาสตร์”

แนวทางการใช้ Generative AI (ChatGPT) ที่เหมาะสมกับลักษณะและบริบทของรายวิชา

  1. ใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยแต่ไม่ได้ทั้งหมด
  2. กรณีวิชาทฤษฎี AI ช่วยในเรื่องการค้นข้อมูลที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนแต่ก็ต้องระวังเรื่องความถูกต้องของข้อมูล และที่มาของข้อมูล
  3. กรณีวิชาปฏิบัติหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ AI จะช่วยได้มาก เพราะทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆในการใช้ความคิดสร้างสรรค์แต่ต้องระวังเรื่องลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา
  4. วิชาด้านนิเทศศาสตร์หลายวิชาสามารถใช้ Generative AI มาช่วยได้ แต่ผู้สอนต้องฝึกใช้ให้เชี่ยวชาญเพื่อเห็นข้อดีของการนำมาใช้ และข้อบกพร่องที่อาจจะเกิดจากการใช้

การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ โดยบูรณาการความคิดสร้างสรรค์สู่การปฏิบัติจริง

  1. การใช้ Generative AI เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยสอนควรระบุให้ชัดและวางแผนการสอนแต่ละหัวข้อใน มอค.ให้ชัดเจน
  2. ในแผนการเรียนรู้ หรือมคอ. ที่เกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อช่วยสอน ควรระบุทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหา และวิธีการเรียนรู้ เช่น เพิ่มเติมหัวข้อการสอนในรายวิชา GEN207 หัวข้อ “ความคิดสร้างสรรค์เพื่อการสื่อสาร” ประกอบด้วย หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างภาพ AI และการประมวลผลภาพ AI, โมเดลการสร้างภาพ ai ยอดนิยมทั้งแบบใช้งานฟรี และแบบมีค่าใช้จ่าย และขั้นตอนการใช้งานเพื่อสร้างสรรค์ภาพ AI, หลักการออกแบบสำหรับการสร้างภาพ AI โดยให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติ เป็นการบูรณาการความคิดสร้างสรรค์สู่การปฏิบัติจริง
  3. AI ที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้มีหลายตัวอาทิ Chat GPT, Grammarly, Chatbot, Amazon ซึ่งมีแหลายเวอร์ชั่น, Bing Chat

ข้อพึงระวังด้านกฎหมาย-จริยธรรมต่อการใช้ AI เพื่อสร้างสรรค์งานทางนิเทศศาสตร์

  1. การใช้ AI มีทั้งผลดีผลเสียในกรณีผลเสียทำให้เกิดปัญหาตามมาทั้งระดับบุคคลและสังคมภาพรวม
  2. ข้อมูลที่ AI นำมาใช้อาจเป็นข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน อาจผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ โดยที่ผู้ใช้งานไม่รู้ตัว
  3. การใช้ข้อมูลที่ทำโดย AI แม้มนุษย์จะเป็นผู้ป้อนคำสั่งแต่อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยคุกคามไซเบอร์ได้ง่าย เช่น การหลอกลวง การให้ข้อมูลลวง ข่าวเท็จ โฆษณาเกินจริง เป็นต้น
  4. การใช้ AI ทำงานข่าวหรืองานบางอย่างแทนมนุษย์อาจทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ส่งผลให้เกิดงานสร้างสรรค์ที่มีข้อจำกัด
  5. ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูและและมาตรฐานการใช้ AI สำหรับผู้ใช้สื่อในประเทศรวมถึงสื่อมวลชนที่ชัดเจน
  6. ในฐานะที่นักศึกษาจะไปประกอบอาชีพสื่อ ควรย้ำว่า สื่อมวลชนควรใช้ AI เป็นเครื่องมือรอง ไม่ใช่เครื่องมือหลัก การออกแบบความคิดสร้างสรรค์ การแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอควรมาจากฝีมือของตนเองเป็นหลัก
  7. ควรใช้ AI ให้สมดุลและเหมาะสมกับงาน โดยคำนึงถึง จรรยาบรรณวิชาชีพ การไม่ละเมิดลิขสิทธิ์  ไม่พาดพิง ยึดหลักความถูกต้องความน่าเชื่อถือของข้อเท็จจริง

วิธีการกำหนด prompt หรือคำสั่งในการใช้ AI เพื่อทำงานและทำวิจัยทางนิเทศศาสตร์

  1. ควรสอนนักศึกษาให้คิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล เพื่อจะได้รู้วิธีการสร้างข้อมูลจาก AI ด้วย
  2. การใช้คำสั่ง AI เพื่อทำงานนิเทศศาสตร์ เช่น เขียนบท ออกแบบภาพ-เสียง ต้องมีทักษะในการใช้คำสั่ง จึงต้องให้ฝึกหลายๆ วิธีป้อนคำสั่ง ลองผิดถูกเพื่อให้ได้สิ่งที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุด
  3. การสอนการใช้คำสั่ง AI ควรสอนทั้งแบบพื้นฐานกับการใช้งานง่ายๆ ไม่ซับซ้อนและแบบซับซ้อนด้วย
  4. การใช้คำสั่ง AI เพื่อช่วยงานวิจัย ต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้มาด้วย ระวังข้อมูลจากวิกิพีเดียซึ่งอาจไม่ถูกต้องเสมอไป

ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้ AI ในการเรียนการสอน

  1. ระวังปัญหาด้านทักษะการใช้ การรู้เท่าทันข้อมูลที่นำมาใช้
  2. ระวังปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือทรัพย์สินทางปัญญา
  3. ควรเน้นย้ำนักศึกษาว่าใช้ AI เพื่อช่วยไม่ใช่ใช้เป็นหลัก เพราะงานนิเทศศาสตร์เป็นงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำเดิม
  4. ควรยกตัวอย่างผลงานทางนิเทศศาสตร์ที่เกิดจาก AI ที่เป็นทั้งข้อดี และผลเสียที่เกิดขึ้น

การวัดผลการเรียนรู้ที่เกิดจากการใช้ AI ในการสอน

  1. ผู้สอนต้องพึงระวังให้มากว่าผลงานที่นักศึกษานำมาส่งอนุญาตให้ใช้ AI ได้หรือไม่อย่างไร
  2. กรณีที่ไม่อนุญาตต้องมีวิธีการวัดประเมินผลที่รัดกุม เช่น ใช้สอบปากเปล่า หรือให้นำเสนอที่มาที่ไปของความคิดสร้างสรรค์ หรือผลงานที่มอบหมายให้นักศึกษาทำ

KM ด้านการวิจัย เรื่อง  “การต่อยอดงานวิจัย/งานสร้างสรรค์ และประสบการณ์ทำงานสู่การเขียนบทความด้าน นิเทศศาสตร์”

ความแตกต่างระหว่างบทความวิจัยกับบทความวิชาการ

        การเริ่มต้นการเขียนบทความวิชาการให้นิยามของบทความวิชาการว่ามีความคล้าย Baby research อยู่ในนั้น  ซึ่งบทความวิชาการเสมือนการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการในเรื่องนั้น ๆ บทความวิชาการจะอธิบาย/วิเคราะห์อะไรบางอย่าง โดยเน้นทางวิชาการ กว่าจะมาถึง นำความรู้/ทักษะที่ตกผลึก (ถอดประสบการณ์) และมีสมมติฐานทางวิชาการด้วยเนื่องจากเป็นงานวิชาการที่ต้องอาศัยหลักการอนุมานเชิงวิชาการหรือการอนุมานที่ได้จากการค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

        ส่วนการเขียนบทความวิจัยจะมีประเด็นในการเขียนค่อนข้างชัดเจนเหมือนการเขียนให้เห็นกระบวนการวิจัยและผลการวิจัย เช่น ชื่อเรื่องวิจัย นิยมใช้ชื่อเรื่องวิจัยหรืออาจปรับเล็กน้อยให้มีคำสละสลวยในเชิงบทความ ที่มาของการทำวิจัย วัตถุประสงค์ สมมติฐาน (ถ้ามี) นิยามศัพท์ ประโยชน์งานวิจัย แนวคิด ทฤษฎี เรียบเรียบเฉพาะแก่นที่สำคัญที่นำมาใช้ในงานวิจัยและนำมาอภิปรายผล วิธีการวิจัย เขียนให้ครบตามระเบียบวิธีวิจัยที่ทำ และผลการวิจัย อภิปราย ข้อเสนอแนะ

การถอดความรู้จากการปฏิบัติงานสู่งานวิชาการ (งานวิจัย เอกสารประกอบการสอน บทความเผยแพร่) :

      การถอดความรู้จากการปฏิบัติสู่งานวิชาการนั้น นอกจากเป็นการบริการวิชาการแล้ว ยังเป็นงานสร้างสรรค์ ตลอดจนเป็นการ Practice Led Research (การปฏิบัติถอดความรู้สู่งานวิจัย ลักษณะงานสร้างสรรค์

     แบบที่ 1 งานสร้างสรรค์เป็นลักษณะอธิบายกระบวนการสร้างสรรค์งาน เช่น การออกแบบโลโก้ เครื่องแต่งการ การแต่งหน้า ออกแบบชุดการแสดง ตัวอย่างงานสร้างสรรค์ 1) การออกแบบเครื่องประดับสำหรับสตรีแรงบันดาลใจจากปลากัดไทย ภายใต้แบรนด์ “ตรีครีบ”  2) การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ่อปลาทอง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา  3) การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย เจ้าชู้ยักษ์           

     แบบที่ 2 งานสร้างสรรค์เป็นลักษณะที่สร้างความรู้ใหม่ (ทดลอง) ตัวอย่างงานสร้างสรรค์ 1) การสร้างสรรค์จิตรกรรมวัสดุผสมแรงบันดาลใจจากท้องทะเล 2) การออกแบบเครื่องเรือนจากเส้นพลาสติก โดยการประยุกต์ใช้ลวดลายหัตถกรรมจักสานพื้นบ้านอีสาน นอกจากนั้นยังมีงานสร้างสรรค์ลักษณะทางศิลปะ เช่น การใช้สีผสมกับดิน เพื่อสื่อความหมายถึงความแห้งแล้ง เป็นต้น            แบบที่ 3 งานสร้างสรรค์เป็นลักษณะของการแสดง ตัวอย่างงานสร้างสรรค์ เดอะ รัดแกรนด์ คาบาเรต์ : การสร้างสรรค์ละครเวทีเพื่อสะท้อนการลดทอนคุณค่าของความแตกต่างทางเพศ

      โดยสรุปการเขียนบทความวิชาการที่ได้จากการทำงาน เขียนได้จาก ความรู้/ทักษะที่ตกผลึก หรือถอดประสบการณ์จากการทำงาน  มีเนื้อหาประกอบด้วย  Data,  Evidence, Argument  ใช้แนวทาง Practice Led Research 

แนวทางการเขียนบทความวิชาการจากประสบการณ์การสอนประสบการร์การทำงาน (วิจัย บริการวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม) :

  • ใช้เทคนิคการคิดหัวข้อบทความวิชาการ คือ จากความสนใจ จากการเตรียมสอน จากการทำวิจัยมาก่อนหน้านี้ หรืองานวิจัยที่ทำเพื่อจบการศึกษา หรือเขียนจากประสบการณ์การทำโครงการบริการวิชาการ การผลิตงานสร้างสรรค์ทางนิเทศศาสตร์ หรือจากโจทย์-ประเด็นของวารสารที่กำหนดให้ เป็นต้น
  • วางกรอบการเขียน โดยใช้หลัก K – Knowledge / O- Objective/ A – Area / T-Time สร้างโครงร่างบทความ(Framework) ออกมาให้ได้ก่อน ตัวอย่างบทความ

                    โดยมีตัวอย่างนำเสนอดังนี้

  • บทความเรื่อง “การถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาด้วยเทคนิค Bullet Time Shot กรณีศึกษาผ้าอนามัยแบบกางเกง” K คือ ภาพยนตร์โฆษณา / O คือ การถ่ายทำด้วยเทคนิค BTS / A  คือ กรณีศึกษาผ้าอนามัยแบบกางเกง / T ยังไม่ปรากฏ 
  • บทความเรื่อง “การปรับเปลี่ยนของโมเดลลิ่งไทยในยุคดิจิทัล” K คือ โมเดลลิ่ง / O คือ การปรับเปลี่ยน / A  คือ ไทย และ T คือ ยุคดิจิทัล 
  • บทความเรื่อง “แนวทางการสื่อสารการท่องเที่ยวผ่านเพจเรือนไทยบางแม่หม้ายโฮมสเตย์ในสถานการณ์โควิด-19” K คือ การท่องเที่ยว / O คือ (แนวทาง) การสื่อสาร / A คือ เพจเรือนไทยบางแม่หม้ายโฮมสเตย์ / T คือ โควิด-19
  • บทความเรื่อง “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยซีรีส์วายในอุตสาหกรรมบันเทิง” K คือ ซีรีส์วาย / O  คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย / A  คือ ในอุตสาหกรรมบันเทิง (ไทย) / T  ไม่ปรากฏ 
  • บทความเรื่อง “จากสะพานอุตตามนุสรณ์ถึงสะพานไม้ไผ่ลูกบวบ :ภาพสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนไทย-มอญ สองฝั่งแม่น้ำซองกาเลียที่เปลี่ยนแปลง” เพื่อให้เห็นกรอบการเขียนบทความที่ชัดเจนสามารถวางกรอบการเขียนบทความ ได้คือ K คือ วิถีชีวิตชุมชนไทย – มอญ / O คือภาพสะท้อน (ที่เปลี่ยนแปลง) / A คือ สองฝั่งแม่น้ำซองกาเลีย และ T คือ จากสะพานอุตตามนุสรณ์ ถึงสะพานไม้ไผ่ลูกบวบ เป็นต้น
  • บทความวิชาการเรื่อง ภาพสะท้อนทางสังคมลาวจากอดีตสู่อนาคต: ศึกษาผ่านสถานภาพโรงภาพยนตร์ในนครหลวงเวียงจันทน์ K คือ     สถานภาพโรงภาพยนตร์ / O  คือ   ภาพสะท้อนทางสังคม/   A  คือ   นครหลวเวียงจันทน์ /  T คือ    อดีต – อนาคต       
  • บทความวิชาการ เรื่อง ความร่วมสมัยที่ปรากฏในการแสดงชั้นสูง “โขนศาลาเฉลิมกรุง” K คือ โขนศาลาเฉลิมกรุง (การแสดงชั้นสูง)/         O คือ    ความร่วมสมัยที่ปรากฏ / A  คือ   ศาลาเฉลิมกรุง/       T   ไม่ปรากกฏ
  • บทความวิชาการเรื่อง ฮูปเงาร่วมทุนไทย-ลาว “สบายดีหลวงพระบาง” : สื่อล่าอาณานิคมด้วยวัฒนธรรมยุคโลกาภิวัตน์  K     คือ ฮูปเงาร่วมทุนไทย-ลาว “สบายดีหลวงพระบาง” / O   คือ  สื่อล่าอาณานิคมด้วยวัฒนธรรม /    A    คือ ไทย-ลาว/  T  คือ   ยุคโลกาภิวัตน์

การเขียนอ้างอิงและบรรณานุกรมตามหลัก APA7th

        หลักสำคัญของการเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการต้องให้ความสำคัญกับส่วนสุดท้ายที่จะเขียนคือการอ้างอิง และเขียนบรรณานุกรมตามมาตรฐานทางวิชาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละวารสารจะเลือกใช้มาตรฐานการอ้างอิงแบบใด ส่วนใหญ่ที่พบคืออ APA7th  แนวทางคือ ถ้านำข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลใดไม่ว่าจะเป็นเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือเอกสาร ข้อเขียนออนไลน์ ต้องน่าเชื่อถือมีแหล่งที่มาชัดเจน เป็นของหน่วยงานสถาบันที่เป็นที่ยอมรับ และการนำข้อมูลมาประกอบการเขียนต้องระมัดระวังเรื่อง plagiarism ด้วย

ค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่บทความ

        วารสารส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่าย ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน/หน่วยงานเป็นผู้กำหนดและค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่ตีพิมพ์บางสถาบัน/หน่วยงานจะไม่เท่ากันกรณีเป็นคนใน-คนนอกสถาบันนั้นๆ ด้วย ตรงนี้ผู้เขียนต้องหาข้อมูลหรือสอบถามไปยังกองบรรณาธิการแต่ละวารสารและหากจะเบิกต้นสังกัดต้องศึกษาเกณฑ์การเบิกค่าเผยแพร่ตีพิมพ์วารสารแต่ละเกณฑ์ให้เข้าใจ

การส่งบทความเพื่อเผยแพร่ตีพิมพ์ ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่วารสารฯ นั้นๆ กำหนด

          การลงวารสารบางฉบับต้องต่อคิวยาวนาน หรือบางฉบับประกาศรับบทความและมีช่วงเวลาให้เขียนค่อนข้างนาน ดังนั้นการส่งบทความเพื่อเผยแพร่ตีพิมพ์ในแต่ละวารสารต้องตรวจสอบเรื่องห้วงเวลาที่กำหนดด้วย และการเขียนบทความเกือบทุกวารสารจะให้ส่งผ่านระบบการจัดการวารสารออนไลน์ (Thai Journals Online System :ThaiJo) ขณะที่ผู้เขียนอยู่ในขั้นตอนของการส่งบทความและติดตามความคืบหน้า ต้องเข้าทำในระบบนั้นๆ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้าบทความของตนเอง ซึ่งจะต้องอยู่ในกระทู้เดิม เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสื่อสารกับผู้ประสานงานวารสารฯ 

——————————————————–