ไท-ยวน และลาวเวียง เป็นชนชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน ไทยวน หรือคนเมือง คือกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย มักตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่านระหว่างหุบเขา เช่น ลุ่มแม่น้ำปิง ลุ่มแม่น้ำวังเป็นที่ตั้งของเมืองลำปาง ลุ่มแม่น้ำยม และลุ่มแม่น้ำน่าน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มหนึ่งที่พูดภาษาตระกูลไท-กะได หรือที่รู้จักในนามล้านนาไทย เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนตอนใต้ของประเทศจีนมาแต่โบราณ ในนอดีตชาวไทยวนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
ทั้งไท-ยวนและลาวเวียงนั้นมีขนบธรรมเนียมประเพณี เช่นเดียวกับคนไทย ทั้งประเพณีทำบุญตักบาตร การละเล่นแบบไทย เช่นมอนซ่อนผ้า ลีลีข้าวสาร งูกินหาง เป็นต้น ในเวลาเดียวกันยังคงดำรงรักษาประเพณีไหว้ผีตาแฮกก่อนการทำนาเพื่อให้คุ้มครองการทำนาให้ได้ผลผลิตที่ดีไม่ได้เสียหาย ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ชุมชนไท-ยวนและลาวเวียง เพื่อเป็นการเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรม โดยได้รับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจาก อบต.หนองแซง จังหวัดสระบุรี คณะนิเทศศาสตร์จึงได้จัดโครงการโครงการพัฒนาประสบการณ์นักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ ปีการศึกษา 2566 ตอน สืบสานวัฒนธรรมไทยวน-ลาวเวียง ขึ้น โดยสาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ได้นำนักศึกษาในรายวิชา CA.1211 การถ่ายภาพเพื่อการสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาทุกสาขาวิชา ของคณะนิเทศศาสตร์ ได้ถ่ายภาพกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมของไท-ยวนและลาวเวียง เพื่อนำภาพที่ได้มาทำการประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และให้ชุมชนได้นำไปเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ต่อไป นอกจากนี้นักศึกษายังได้เรียนรู้ด้านการถ่ายภาพและเทคนิคต่างๆ นอกห้องเรียน เรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชน และเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อเป็นการสนองยุทธศาสตร์ของ สกอ. ด้านการผลิตบัณฑิต ตามตัวบ่งชี้ที่ 1.6 ตัวบ่งชี้ที่ 4.1 และตรงตามคุณลักษณะบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 กิจกรรมดังกล่าว อ.วัฒนา เจริญชัยนพกุล ได้พานักศึกษาลงไปฝึกปฏิบัติถ่ายภาพ ณ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ได้รับการร่วมมือกับทางนายอำเภอหนองแซง ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ตลอดจนเจ้าอาวาสวัดเขาไกรลาศ เจ้าอาวาสวัดหนองสีดา จัดกิจกรรมถ่ายภาพในโครงการ “สืบสานถิ่นวิถีลาวเวียง รักษาวัฒนธรรมไท-ยวน ต่อยอดภูมิปัญญาหนองแซง” โดยการจัดจำลองงานบุญ งานประเพณี วัฒนธรรม อาทิเช่น ประเพณีการตักบาตรเทโวรหาร การล้างเท้าพระ พิธีแห่นางแมว พิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อให้นักศึกษาในรายวิชาดังกล่าวได้ฝึกปฎิบัติถ่ายภาพ
และเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ณ ที่ว่าการอำเภอหนองแซง คณะนิเทศศาสตร์ นำโดย อาจารย์วัฒนา เจริญชัยนพกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ผู้สอน ได้นำนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ไปมอบภาพถ่ายกิจกรรมตามโครงการ “สืบสานถิ่นวิถีลาวเวียง รักษาวัฒนธรรมไท-ยวน ต่อยอดภูมิปัญญาหนองแซง” มอบให้แก่ นายเอกภณ แจ่มใส นายอำเภอหนองแซง ไว้ใช้เผยแพร่ จำนวน 20 ภาพ ซึ่งเป็นภาพที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือก จากปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวอำเภอหนองแซง ให้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวได้ต่อไป และ ในโอกาสนี้นายเอกภณ แจ่มใส นายอำเภอหนองแซง ได้มอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับนักศึกษาที่มีผลงานภาพถ่ายขวัญใจชาวอำเภอหนองแซง จำนวน 15 ภาพ และภาพถ่ายยอดเยี่ยม จำนวน 5 ภาพและมอบใบประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชนอำเภอหนองแซงให้แก่ อาจารย์วัฒนา เจริญชัยนพกุล และว่าที่ร้อยตรี ปฐมพงษ์ เอมศรี